Work

การย้ายงานจาก Corporate ไป Startup ด้วยเงินเดือนที่ลดลง

เบื้องหลังการตัดสินใจ และการเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการทำงาน

การย้ายงาน ลาออก เปลี่ยนงาน ไม่ว่าจะใช้คำว่าอะไร มันก็คือการที่เราเปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนสังคม เปลี่ยนคนรอบตัว เปลี่ยนหัวหน้า เปลี่ยนภาระหน้าที่ที่ต้องทำในทุกๆ วัน ไปพบเจอกับสิ่งใหม่ๆ ส่วนใหญ่ “การย้ายงาน” มักจะมีจุดประสงค์เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ดีกว่า และในช่วงเวลาที่ผมโตมานั้น การย้ายงาน มักจะต้องไปบริษัทที่ใหญ่ว่า รับตำแหน่งที่ใหญ่กว่า และแน่นอน เงินเดือนที่ดีกว่า

ในเดือนพฤษภาคม 61 ที่จะถึงนี้ ผมกำลังจะย้ายงาน จาก Senior Software Engineer บริษัทขนาดใหญ่มาก ไปเป็น Software Engineer ของบริษัทขนาดกระทัดรัด ที่เพิ่งตั้งมาได้ไม่กี่ปี ด้วยเงินเดือนที่ลดลงจากที่เดิมถึง 25 % ย้ายจากการทำงานร่วมกับคนเป็นร้อยเป็นพัน ไปยังทีมที่ขนาดน่ารักกำลังดี ผมเลยอยากจะเขียนเก็บเอาไว้ ว่าเบื้องหลังการตัดสินใจนี้ เกิดอะไรขึ้นบ้าง อะไรที่ทำให้ผมตัดสินใจอย่างนี้ เผื่อว่ามันจะมีประโยชน์กับคนที่กำลังลังเลเหมือนเหมือนที่ผมเคยเป็น

การตัดสินใจครั้งนี้ นับว่าเป็นการก้าวออกจาก Comfort Zone ก้าวที่ใหญ่มากๆ สำหรับผม รวมถึงคนรอบตัวและครอบครัวผมด้วย ผมเลยต้องตอบคำถามหลายๆ คำถาม ทั้งต่อตัวเอง คนรอบข้างและครอบครัว เมื่อผมบอกว่าจะย้ายงาน ก็จะมีคำว่า

“ความมั่นคง”, “เงินเดือนน้อย”, “ความก้าวหน้า”, “ไปทำอะไร” ฯลฯ

วนไปวนมาอยู่ในบทสนทนา ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ และก็เป็นสิ่งที่ต้องเก็บมากคิดและทบทวนให้มากก่อนจะตัดสินใจและให้คำตอบคนที่เกี่ยวข้อง พูดง่ายๆ ว่า

ต้องคิดให้เยอะๆ ก่อนเดินไปบอกหัวหน้าปัจจุบันว่าจะลาออก

ความมั่นคง → ขยาย Comfort Zone

ความมั่นคง ผู้คนส่วนใหญ่มักจะติดอยู่กับความคิดที่ว่า บริษัทใหญ่ๆ ย่อมมีความมั่นคงมากกว่าบริษัทเล็ก แต่ว่ามันจริงหรือเปล่าในยุคปัจจุบัน

ต้องยอมรับว่า Corporate มีความมั่นคงที่สูงกว่า ด้วยทุนที่มากกว่า รูปแบบการบริหารที่ชัดเจน การดำเนินกิจการที่นานกว่า ส่งผลให้การล้มของบริษัทเกิดขึ้นได้ยากกว่า แม้ว่าจะมีหลายครั้งเลยทีเดียว ที่มีข่าวบีบคนให้ออก ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการไม่ขึ้นเงินเดือน ไม่ให้งานทำ หรือที่หลายๆองค์กรใช้คำว่า Freeze หรือในรูปแบบของการ Layoff ไปเลย

Startup เองถ้าไม่สามารถหาเงินได้ ก็ต้องปิดตัวลง และแยกย้ายกันไป อยากที่พบได้ในหลายๆ Startup แต่ข้อดีของ Startup ก็คือ ทุกคนเตรียมใจไว้แล้วนั่นเอง

ในความคิดของผม ความมั่นคงไม่ได้อยู่ที่บริษัทความมั่นคงที่แท้จริงคือตัวเราเอง มากกว่า ตัวเราที่มีความสามารถ และเป็นที่ต้องการของตลาด ตัวเราที่พร้อมจะไปทำงานอะไรก็ได้ ตัวเราที่พร้อมจะออกจาก Comfort Zone ปัจจุบัน ออกไปค้นหา เรียนรู้อยู่เสมอๆ เพื่อขยายอาณาเขตของ Comfort Zone ของเรา ให้กว้างจนเรา Comfortable ที่จะทำอะไรก็ได้ อยู่ที่ไหนก็ได้ เป็นอะไรก็ได้ ในงานที่เราทำ เพราะฉะนั้น ความมั่นคงนั้นเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าเราจะอยู่ที่บริษัทไหน

บริษัทเล็ก → โอกาสในการเรียนรู้

ขนาดของบริษัท ทั้งใหญ่และเล็ก ต่างมีข้อดีที่ต่างกัน ในเรื่องความสนิทกันของคน ตรงนี้ไม่มีความแตกต่างกันเท่าไหร่ เพราะว่า 1 บริษัท Startup อาจจะเท่ากับ 1 ทีมย่อยๆ ใน Corporate ส่วนที่ต่างคือความสนิทของ Corporate เกิดในระดับทีม ส่วน Startup เกิดขึ้นในระดับบริษัท การเข้าถึง Management level การเดินเข้าไปหา การพูดคุย หรือขอคำปรึกษา ทำได้ง่ายมาก ทุกวันนี้ผมก็ Facbook Chat ขอคำปรึกษาและพูดกับ MD ของบริษัท(ใหม่) อยู่เรื่อยๆ

ในขณะที่ด้านลักษณะงาน ข้อดีของ Corporate คือความชัดเจนของโครงสร้างบริษัท มีฝ่ายต่างๆ ชัดเจน (DevOps, DBA, IT-Support ฯลฯ) ซึ่งทำหน้าที่เฉพาะ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เรา ทำให้เราโฟกัสกับการทำงานของตัวเองได้มากขึ้น และงานส่วนของตัวเองค่อนข้างจะชัดเจนว่าต้องทำอะไร ไม่ต้องไปทำงานอะไรที่เราไม่ถนัด ฝั่ง Startup อาจจะเป็นงานจับฉ่ายซะเยอะ (เท่าที่ฟังมา) CEO บางบริษัท ต้องเป็นทั้ง HR, นักบัญชี เพิ่มเข้าไปด้วย CTO บางคนต้อง develope, test, deploy เอง แก้บั๊กเอง ซึ่งจะไม่มีทางพบเห็นมากนักใน Corporate

สำหรับผม ผมคิดว่าการเปลี่ยนไปทำบริษัทเล็ก แม้ว่าจะต้องทำหลายๆ อย่างด้วยตัวเองมากขึ้น หรืออาจจะต้องทำทุกอย่าง ผมมองว่านี่เป็นโอกาสในการเรียนรู้ ที่ดีมากสำหรับผม

การที่เราสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้ด้วยตัวเอง นอกจากจะลดเวลาที่ต้องรอฝ่ายอื่นทำให้ เรายังได้ทักษะเหล่านั้นเป็นของแถม (เหมือนการเก็บสะสม Infinity Stone) ทำให้เราแตกต่าง และช่วยเพิ่มสีสันให้กับ Profile เราอยู่พอสมควร สมมติว่าเราจะต้องไปเป็นระดับบริหาร การเก็บรวบรวมของแถมเหล่านี้ไว้ ผมว่าน่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากในอนาคต

ความก้าวหน้า →โอกาสในการเติบโต

ความก้าวหน้า เป็นคำที่ผู้ใหญ่รอบตัวมักจะพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง มาตรวัดความก้าวหน้า ก็มีหลายแบบ ก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน ก้าวหน้าในเงินเดือน ซึ่งการจะก้าวหน้าใน Corporate นั้น ก็จะมีสิ่งที่ทุกคนรู้จักกันดี คือ Career Path หรือเส้นทางของอาชีพที่ชัดเจน การเลื่อนขั้นโดยทั่วไปก็จะเป็น Junior → Senior → Team Lead → Manager → Director …. แล้วแต่โครงสร้างบริษัท เงื่อนไขก็อาจจะเป็น อายุงาน, ประสบการณ์, KPI, รวมไปถึงการเมืองในองค์กรขนาดใหญ่ที่ซับซ้อนมากขึ้น

ส่วน Startup ผมมองว่าความก้าวหน้าคือ โอกาสในการเติบโต มากกว่า ด้วยความที่โครงสร้างองค์กรของ Startup มักจะไม่ได้มีหลายชั้น (อาจจะเป็น MD แล้วลงมาก็ Developer เลย) ช่วง Startup นี้ (ก่อนจะเปลี่ยนไปเป็น Corporate) จึงกลายเป็นช่วงเวลาอันดีที่เราจะใช้โอกาสนี้เติบโตให้ได้ไกลที่สุด โอกาสที่จะแสดงความสามารถให้ได้มากที่สุด

แม้ว่าข้อเสียขององค์กรแบบนี้คือโครงสร้างองค์กรที่ไม่ชัด และมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง แต่เมื่อถึงเวลาที่ความชัดเจนนั้นเกิดขึ้น ผมคิดว่าคนที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่แรก และมีความสามารถที่เห็นชัด ย่อมมีโอกาสที่จะอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญในองค์กรได้อย่างแน่นอน

ผมเคยคุยกับน้องคนหนึ่ง (ตอนนี้เขาไปทำ Startup ในตำแหน่ง Development Manager แล้ว) ผมพูดกับน้องตอนนั้นว่า

“กูว่าการเติบโตใน บริษัทขนาดใหญ่ มันเหมือนต้นไม้ที่โตในกล่อง มันปลอดภัยนะ จะโตเร็วแค่ไหน มันก็มีเพดานของกล่องกันไว้อยู่ดี ถึงย้ายไปบริษัทใหม่ที่ใหญ่ขึ้น มันก็แค่เปลี่ยนเป็นกล่องที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่บริษัทขนาดเล็ก โดยเฉพาะ Startup มันไม่มีของที่เรียกว่ากล่องอยู่ตั้งแต่ต้น มึงอยากโตเท่าไหนก็อยู่ที่ตัวมึง แต่มันก็ไม่มีอะไรป้องกันมึงเหมือนการมีกล่องนะ”

อันที่จริงแล้วตอนนั้น มันเหมือนผมพูดกับตัวเองเสียมากกว่า

เงินเดือนน้อย → เพิ่ม value ให้ตัวเอง

เงินเดือน เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง สำหรับการตัดสินใจเลือกงาน และเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญอย่างมาก ผมไม่ได้หมายถึงให้เลือกจากจำนวนเงินที่มากกว่าเท่านั้น ผมว่าเราต้องคิดว่า ค่าตอบแทนที่ให้ มันเหมาะสมกับภาระหน้าที่ และงานที่ทำหรือเปล่า รวมถึงโจทย์ในชีวิตของเราคืออะไร ปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมีอะไรบ้าง

ถึงแม้ว่าการพิจารณาค่าตอบแทนนั้นสำคัญ “แต่มันอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งแรกเสมอไป” คนที่กำลังจะย้ายงานหลายๆ คน หรือน้องๆ ที่กำลังจะจบใหม่ มองที่ค่าตอบแทนก่อน (ซึ่งไม่ผิด) โดยไม่ได้พิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ เพียงเพราะเงินเดือนน้อย

ผมอยากให้ทุกคนได้ลองคิด ได้มอง ในมุมมอง และองค์ประกอบที่นอกเหนือไปจากเงินเดือนด้วย เผื่อจะมีอะไรที่น่าสนใจมากกว่าเงินเดือน โดยเฉพาะมุมมองที่ว่า เราจะเพิ่ม value ให้ตัวเอง จากการทำงานที่นี่ได้แค่ไหน

ตอนแรกๆ ที่คิดว่าจะย้ายงานมาทำที่ใหม่นี้ ผมก็คาดหวังเรื่องค่าตอบแทนไว้ประมาณนึง พอวันที่สัมภาษณ์ แล้วเขาถามเงินเดือนปัจจุบัน พอผมบอกไป พี่เขาก็ตกใจว่าทำไมถึงได้เยอะขนาดนี้ ถึงกับถามว่า เงินเดือนน้อยที่สุดที่จะไม่ย้ายมาคือเท่าไหร่ แล้วเขาก็บอกกับผมตรงๆ ว่าคงให้ได้ไม่เท่ากับที่ผมได้ตอนนั้น เนื่องจากปีประสบการณ์ของผมเพิ่งจะ 5 ปี เงินเดือนที่ผมได้ตอนนั้น เยอะกว่าที่เงินเดือนสูงสุดในทีมพี่เขาอีก

ตอนนั้น บอกตรงๆ ก็แอบผิดหวัง เพราะก่อนที่จะมาถึงจุดที่สัมภาษณ์ ผมก็คิดว่าทางนั้นก็คงสู้ในระดับหนึ่ง อาจจะลดไปไม่มาก พี่เขาบอกว่า ขอพี่ไปคิดก่อน แต่ก็คงไม่ได้เท่ากับเงินเดือนน้อยสุดที่ผมจะย้ายที่บอกพี่เขาไป

ระหว่างที่รอพี่เขา ผมก็เริ่มสำรวจตลาด ด้วยการสอบถามคนที่รู้จัก พี่ที่ตอนนี้ไปเป็น CTO แล้ว พี่ที่สนิทที่เคยทำงานด้วยกัน ประกาศรับสมัครงาน ผองเพื่อนที่เป็น HR ก็ได้ข้อสรุปว่า เงินเดือนที่ผมได้ตอนนั้น เทียบกับตำแหน่งใหม่ที่จะไปทำ มันค่อนข้างสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปในคนที่ประสบการณ์เท่ากัน (คือตอนนั้นผมทำ Back-End ส่วนที่เป็น Machine Learning ทีมหนึ่งในบริษัท ซึ่งเรทเงินเดือนงานด้านนี้ก็ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว แถมบริษัทผมในตอนนั้น ก็ขึ้นชื่อเรื่องเงินเดือนสูงมาก แล้วตำแหน่งใหม่ที่จะไปทำคือ Full-Stack Developer)

การจะทำใจแล้วบอกว่า โอเค ผมได้เงินเดือนที่สูงกว่าคนอื่น ผมยอมลดก็ได้ เฉยๆ มันก็ไม่ใช่อะไรที่สมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ เหมือนเป็นการปลอบใจตัวเองเสียมากกว่า

สุดท้ายแล้วพี่เขาก็ตอบกลับมาว่าเขาให้ได้ ในตัวเลขที่เท่ากับ 75 % ของเงินเดือนปัจจุบัน พูดง่ายๆก็คือ เงินเดือนผมจะลดลง 25 % (เยอะนะครับ สำหรับผม)

ตอนนั้นผมมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือไปต่อ กับพอดีไหม คือผมไม่ได้มีปัญหาอะไรเลยกับที่ทำงานปัจจุบัน แถมก็ยังสนุกอยู่ด้วยซ้ำ ก็เลยไม่ได้จำเป็นต้องไปก็ได้ (หัวหน้าผม ณ ตอนนั้นยังบอกว่า อาจจะขึ้นเงินเดือนให้อีกตอนกลางปี T_T) คนรอบตัวผมตอนนั้นก็อดจะแสดงความกังวลไม่ได้ว่า ไปเงินเดือนน้อยลงมันจะดีหรือ แถมคนที่ผมรู้จัก อายุเท่ากันหลายคน ก็เงินเดือนอัพกันเป็นทิวแถว ตอนนั้นยอมรับว่าเครียดเหมือนกันเพราะปัญหาที่สำคัญสุดคือ ใจผมค่อนข้างเทไปทางว่าจะย้ายไปอยู่แล้ว (ก่อนจะไปสัมภาษณ์ และรู้เงินเดือน) ผมก็เลยต้องขบคิดอยู่หลายวัน เอาจริงๆ ก็เป็นสัปดาห์ว่าจะเอาอย่างไรดี ระหว่างนั้นผมก็ออกไปเที่ยว ไปพักผ่อนสมอง

สุดท้ายแล้ว ประเด็นสำคัญที่ทำให้ผมตัดสินใจไปคือ เป้าหมายในชีวิต ซึ่งจะอธิบายในหัวข้อถัดไป สิ่งที่ผมต้องทำตอนนั้นคือ ทำความเข้าใจว่า ทำไมเขาถึงให้เงินเดือนกับเราขนาดนั้นไม่ได้ (ตอนแรกผมแอบคิดว่า เขาไม่อยากได้เราจริงๆ เหรือเปล่า) ผมเลยลองคิดกลับ ตามหลัก Design Thinking โดยการเอาตัวเข้าไปเป็นพี่คนนั้น แล้วก็ได้ข้อสรุปมาบางประการ

  • บริษัท Startup สิ่งที่สำคัญคือ Burn rate (อัตราค่าใช้จ่ายที่ใช้) เนื่องจากข้อจำกัดของงบประมาณ การจะรับคนที่ค่าตัวสูงๆ เข้าทีม ก็ต้องมั่นใจว่าเขาจะเป็นประโยชน์กับทีมมากพอ
  • การจะให้ค่าตัวใครจากการที่รู้จักกันไม่นาน สูงกว่าคนที่อยู่ปัจจุบัน ซึ่งทำงานด้วยกันมานานแล้ว ก็ต้องมั่นใจด้วยว่า คนอื่นในทีมยอมรับในตัวคนที่จะเข้ามา (ถ้ามีคนรู้ค่าตัวคนใหม่นี้ แล้วเขาไม่ยอมรับในความสามารถ ก็คงไม่ดีแน่)
  • จากข้อจำกัดเรื่องงบประมาณและการยอมรับของทีมปัจจุบัน การสัมภาษณ์ แค่ไม่ชั่วโมง กับความสามารถ หรือความเก่งจากที่ทำงานเก่า ไม่ได้เป็นการรับประกันว่า เขาจะเข้ากับทีม หรือเขาจะเข้ามาทำประโยชน์กับทีมได้คุ้มค่าเท่ากับค่าตัวที่จะจ่าย
  • สิ่งที่เดียวทีใช้เป็นเกณฑ์ได้คือ ค่าเฉลี่ยของตลาด เทียบกับประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่งก็คงให้สูงกว่าราคาตลาดในระดับหนึ่ง จึงดูจะสมเหตุสมผลที่สุดแล้ว

จากข้อสรุปเหล่านั้น ทำให้ผมคิดได้ว่า จริงๆแล้ว เราก็แค่กลับมาอยู่ในราคาตลาดเท่านั้นเอง แล้วผมก็เข้าใจมากขึ้นว่า ตราบใดที่เรายังไม่ได้แสดงฝีมือ มันก็ยากที่ใครจะจ่ายให้เรามากขึ้น

ตรงนี้ ผมมองว่า นี่จะเป็นความท้าทายครั้งสำคัญในชีวิต ที่จะต้องพยายามมากขึ้นกว่าเดิม เรียนรู้ให้มากขึ้นกว่าเดิม พัฒนาให้มากขึ้นกว่าเดิม ในการเพิ่ม value ให้ตัวเอง เพื่อกลับไปอยู่ในจุดที่ค่าตอบแทนเท่ากับก่อนที่จะย้ายมา โดยที่เรามี Value เหมาะกับราคานั้นจริงๆ

Purpose, Passion และ Impact

ช่วงที่คิดทบทวนเรื่องจะย้ายไปที่ใหม่ดีหรือเปล่า ก็ได้โอกาสกลับมาทบทวนเป้าหมายชีวิตของตัวเองมากขึ้น ได้มานั่งคิดว่า เราต้องการอะไรจากการทำงาน เราอยากทำงานแบบไหน เราอยากให้ชีวิตในแต่ละวันเป็นแบบไหน อยากตื่นมาเจออะไร มาทำอะไรที่เราทำแล้วมีความสุขจริงๆ หลังจากคิดอยู่นานระหว่างที่ไปเที่ยว ก็ได้คำตอบเป็นคำถาม 3 ข้อ คือ อะไรคือ Purpose ในชีวิต อะไรคือ Passion ในการทำงาน และสิ่งที่กำลังทำนี้มัน Impact ต่อโลกใบนี้อย่างไร

  • อะไรคือ Purpose ในชีวิต

Purpose หรือ จุดมุ่งหมายของการทำงานของผม ณ เวลานี้ คือได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆตลอดเวลา และได้ทำเพื่อสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเอง อันนี้เป็นอะไรที่ยากและต้องใช้เวลา เพื่อที่จะหาคำตอบให้ตรงได้ ผมเชื่อลึกๆว่า คนเราสามารถมีจุดมุ่งหมายในชีวิตแต่ละด้านที่ไม่เหมือนกันได้ เช่น ด้านการทำงาน ด้านครอบครัว ด้านสุขภาพ ฯลฯ หรือแม้แต่จุดมุ่งหมายในด้านเดียวกัน ก็เปลี่ยนไปตามช่วงเวลาของชีวิต จุดมุ่งหมายในอดีตและในอนาคต อาจจะเหมือนหรือแตกต่างจากปัจจุบันก็ได้

  • อะไรคือ Passion ในการทำงาน

Passion ถ้าแปลเป็นคำที่สวยหน่อย ก็ตรงกับคำว่า ฉันทะ แปลว่า ความรัก ไลฟ์โค้ชหลายสำนักจะบอกว่า Passion ในการทำงานคือการมีความสุขในงานที่ทำ ผมเห็นด้วยครึ่งหนึ่งนะ (ไว้จะอธิบายเมื่อมีโอกาส) ผมคิดว่าการค้นหา Passion ในการทำงาน มันหมายถึง “การหาเหตุที่ทำให้เกิดความรักในงานที่ทำ”

การหา Passion นี่ก็ยากพอๆ กับการหา Purpose เลยทีเดียว เพราะมันจะคาบเกี่ยวกับการหลอกตัวเองให้รักในงานที่ทำ ผมคิดว่าสิ่งที่จะแยกแยะ Passion ของเราได้คือ การรู้ว่าตัวเองชอบอะไร ไม่ชอบอะไร อะไรที่เกิดแล้วทำให้เราอยากทำงาน อะไรที่บั่นทอนความรู้สึกอยากทำงานของเรา

ผมว่าเหตุที่ทำให้ผมรักในงานที่ทำได้ คือการที่งานของผมมันเป็นประโยชน์กับคนอื่น งานของผมมีคุณค่า การได้ร่วมงานกับทีมที่ดี ที่เก่ง การได้เอาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางคนเก่งๆ มันเป็นอะไรที่ตื่นเต้นมากสำหรับผม ส่วนสิ่งที่บั่นทอนความรักในการทำงานของผมคือ การอยู่เฉยโดยไม่ได้ทำอะไรเลย

  • สิ่งที่กำลังทำนี้มัน Impact ต่อโลกใบนี้อย่างไร

อันนี้ค่อนข้างจะดูยิ่งใหญ่ แต่จริงๆ ไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น ผมแค่คิดว่า ถ้าสิ่งที่เราทำอยู่ มันสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่นบ้าง ผมคงมีความสุขมาก ผมคงภูมิใจ ที่ได้ชี้นิ้วบอกใครต่อใครว่า ตรงนี้ผมเป็นทำเอง หรือตรงนั้นผมเคยเขียนโค้ดไว้ แล้วผมรู้สึกว่างานใหม่ที่จะทำ ผมจะมีโอกาสตรงนี้

บทส่งท้าย

คนเรามีเงื่อนไขชีวิตที่ต่างกัน บางคนมีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ก็อาจทำให้เขาต้องตัดสินใจเลือกค่าตอบแทนที่มากกว่าก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด บางคนมีต้นทุนชีวิตที่สูงอยู่แล้ว เขาแค่อยากจะเรียนรู้ให้มากขึ้น ค่าตอบแทนจึงกลายเป็นสิ่งท้ายๆ ที่เขาใช้พิจารณา บางคนเป็นคนที่เก่งมากๆ แต่อยากสร้าง Impact ให้โลก ก็ไม่ผิดเช่นกันที่เขาจะเลือกทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม

เอาจริงๆ ผมจะอยู่ในกลุ่มที่ต้นทุนชีวิตไม่ได้สูง ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าเก่ง ผมจึงคิดว่า การที่ผมตัดสินใจอย่างนี้ เป็นการคิดที่ค่อนข้างครอบคลุมสำหรับคนกลางๆ ทั่วๆ ไป ที่กำลังลังเลว่า จะก้าวออกจาก Comfort Zone ของตัวเองดีหรือไม่ หรือน้องๆ จบใหม่ที่กำลังลังเลว่า จะเริ่มทำงานที่ไหนดี

อย่างที่พูดไปแล้ว ผมเชื่อว่า ในยุคนี้ ความคิดที่ว่าทำบริษัทนี้เพื่อความมั่นคงตลอดชีวิต กำลังจะหายไป เงินเดือนหรือค่าตอบแทนนั้น เป็นสิ่งชั่วคราว ไม่ได้แปลว่าเข้าบริษัทเงินเดือนน้อยแล้วจะน้อยตลอดกาล หรืออยู่บริษัทเงินเดือนสูงแล้วจะมีความมั่นคง สิ่งที่มั่นคงที่สุดก็คือศักยภาพของตัวเราเอง เราต้องมองว่า ไปทำงานที่ไหนแล้ว คุณค่าและความสามารถในตัวเราจะเพิ่มขึ้น มากกว่าตัวเลขห้าหกหลักในสลิปเงินเดือน เมื่อเรามีความสามารถแล้ว เดี๋ยวเงินเดือนที่สูงกว่า ก็จะมาหาเราเอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *