Andragogy ทฤษฎีการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ — มาทำความเข้าใจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้กัน
เคยสงสัยไหมครับว่า เราที่เป็นผู้ใหญ่ มีการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปจากตอนเด็กๆ ยังไงบ้าง
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร่วมงาน Thailand HR Tech 2022 ที่จัดโดย PMAT (Personnel Management Association of Thailand) มาในธีม “Let’s create human-first technology for humanity” ซึ่งในงาน ก็จะมีการเสวนาอยู่หลายเวที และแน่นอนว่า มีเวทีของ Skooldio Tech ที่พูดโดยคู่หูของผม คุณเนียร์ด้วย โดยเนื้อหาที่เนียร์ได้ขึ้นพูด มีหัวข้อว่า “Enabling Learning Organizations with Innovative Learning Solution” ซึ่งเนียร์ไม่ยอม Spoil อะไรให้ฟังเลยจนถึงวันงาน บอกว่ารอไปฟังในงาน ซึ่งวันจริงผมได้เข้าไปฟังแล้วรู้สึกประทับใจมาก (แบบไม่ได้อวยกันเอง จริงๆนะ) ซึ่งเดี๋ยวเนียร์น่าจะเอามาเขียนเล่าให้ฟังอีกรอบโดยเนื้อหาหลักๆ จะเล่าถึงว่า คนเรา เรียนไปเพื่ออะไร (รออ่านของเนียร์ละกันครับ เดี๋ยวของมาแล้วจะเอาลิงค์มาแปะให้)
จากสิ่งที่เนียร์เล่าในวันงาน ก็ทำให้ผมเกิดคำถามต่อว่า
ตอนนี้เรารู้แล้วว่า เราเรียนไปเพื่ออะไรกันบ้าง แต่เรารู้หรือยังว่าเราต้องเรียนรู้กันด้วยวิธีไหน ?
ทำให้ผมนึกถึงเรื่องหนึ่ง ที่ได้เรียนรู้ตอนเป็นผู้สอนโครงการ Generation คือเรื่องของวิธีการเรียนของผู้ใหญ่ ที่คิดว่าน่าจะช่วยให้เราเข้าใจได้มากขึ้นว่า คนที่โตแล้ว ใช้ชีวิตเลยช่วงของการเรียนมาหลายปีแล้ว เรายังเรียนแบบเดิมสมัยเด็กๆ ได้อยู่หรือเปล่า หรือว่า มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ทำให้เราต้องมาคิดกันใหม่ ถึงวิธีการเรียนรู้ของตัวเองในปัจจุบัน เพื่อให้เหมาะกับยุคที่ใครต่างก็พูดถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning กันทุกวงการ
โดยเรื่องวิธีการเรียนของผู้ใหญ่นี้มีคนตั้งทฤษฎีขึ้นมาศึกษาาอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 1833 โดยมีชื่อเรียกอย่างการว่า Andragogy อ่านว่า แอน-ดรา-โก-จี้ มาจากคำภาษากรีก คือ คำว่า Aner (man) กับคำว่า Agogus (Leader) แปลรวมๆ ว่าการชี้นำสำหรับผู้ใหญ่ หรือ การเรียนรู้ของผู้ใหญ่นั่นเอง ซึ่งจะมีอีกคำที่คล้ายกัน คือคำว่า Pedagogy ที่แปลว่า การเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งคำหลังมักจะใช้กันเยอะในวงการการศึกษา
Andragogy หรือ ทฤษฎีการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ ที่มีชื่อเสียงมากๆ อันนึง คือทฤษฎีนำเสนอโดย Malcolm Knowles ในปี 1980 และ 1984 โดยได้พูดถึงหลักการที่มีส่วนในการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ และส่งผลต่อผลลัพธ์ในการเรียนรู้ที่แตกต่างจากเด็ก ประกอบไปด้วยหลักการ 5 ข้อด้วยกัน คือ
Self-concept
ไม่แน่ใจว่าต้องแปลเป็นไทยยังไง แต่มีคนเคยแปลไว้ด้วยคำว่า มโนทัศน์แห่งตน แต่แปลให้เข้าใจง่ายคือ แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของตัวเอง แต่เดิมตอนเป็นเด็ก เราจะถูกบอกถูกสอน ถูกชี้นำว่าจะต้องเรียนอะไร แต่พอเป็นผู้ใหญ่ ความแตกต่างคือ เราจะเป็นคนที่ชี้นำตัวเองมากขึ้น และจะเป็นผู้กำหนดทิศทางว่าจะต้องเรียนรู้อะไรให้กับตัวเองเป็นส่วนใหญ่
ซึ่งส่วนนี้ เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนได้กำหนดทิศทางการเรียนรู้ของตัวเอง ก็คือการให้ผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่มีส่วนในการออกแบบ และวางแผนการเรียนรู้ รวมถึงการประเมินความสามารถด้วยตัวเอง
Adult Learner Experience
ความสำคัญของประสบการของผู้เรียน เนื่องจากผู้ใหญ่เป็นคนที่โตและมีประสบการณ์มามากกว่าเด็กๆ ทำให้วิธีการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ มักจะอิงจากประสบการณ์ของตัวเอง และมักจะใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาในการเชื่อมโยงความรู้ใหม่ๆ มากกว่า เรื่องไหนที่เป็นเรื่องใหม่ หรือความรู้ใหม่ๆ แต่สามารถเชื่อมโยงกับประสบการณ์หรือความรู้ในอดีต ผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่ ก็มักจะเรียนรู้ได้เร็วกว่าเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องเลย ต่างจากๆ เด็กๆ ที่สามารถเรียนเรื่องใหม่ๆ โดยที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อนได้ดีกว่า (ข้อนี้อาจจะรวมถึงว่า แหล่งความรู้เดียวกัน แต่ประสบการณ์ของผู้เรียนแตกต่างกัน ก็อาจจะให้ผลลัพธ์การเรียนรู้ไม่เหมือนกัน)
Readiness to Learn
ความพร้อมในการเรียน อันนี้จะหมายถึงความพร้อมที่ผู้ใหญ่ จะทุ่มเทให้กับการเรียนได้เต็มที่ ซึ่งความพร้อมนอกจากจะหมายถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเรียนแล้ว (เช่น เด็กๆ พร้อมเรียนทั้งวัน ตั้งแต่ 8 โมง ถึง 4 โมงเย็น แต่ผู้ใหญ่มักจะพร้อมเรียนตอนดึก ๆ) ยังรวมถึงความรู้สึกว่าสิ่งที่จะเรียนรู้เป็นสิ่งที่ จำเป็น ต่อบทบาทและหน้าที่ที่ตัวเองทำอยู่ และถึงเวลาแล้วที่จะต้องรู้เรื่องเหล่านี้
Orientation to Learning
แนวทางการเรียนรู้ของผู้ใหญ่นั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การเอาปัญหาเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ (problem-centered) และสามารถทำให้ผู้เรียนเห็นได้ว่า สิ่งที่เรียน จะเอาไปแก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างไร การออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ตรงนี้จึงเปลี่ยนไปด้วย การออกแบบการเรียนโดยเอาเนื้อหาวิชามาตั้งต้นว่าต้องเรียนอะไร 1 2 3 (content-oriented) อาจจะไม่ใช่แนวของผู้ใหญ่อีกต่อไป ผู้ใหญ่อาจจะต้องการเรียนเรื่องที่ 20 ก่อนเรื่องที่ 1 เพราะรู้ว่าเรื่องที่ 20 จะไปแก้ปัญหาอะไรให้เขา แล้วถ้าจำเป็น ค่อยมาเรียน 1 2 3 อีกที
Motivation to Learn
แรงจูงใจในการเรียนของผู้ใหญ่แตกต่างจากเด็กชัดเจน เด็กๆ นั้น แรงจูงใจมักจะมาจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็น ผลการเรียน เกรด ความภูมิใจของพ่อแม่ แต่ผู้ใหญ่นั้น แรงจูงใจในการเรียนจะมาจากภายในมากกว่า มาจากความรู้สึกที่ว่า เรียนเพื่อเอาความรู้ เรียนเพราะต้องรู้เรื่องเหล่านี้ ซึ่งการจะสร้างแรงจูงใจจากภายใน เป็นเรื่องที่ยาก เพราะเราต้องชี้ให้เห็นว่า เขาเรียนไปเพื่ออะไร
ซึ่งทั้ง 5 หลักการของการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ที่แตกต่างจากเด็กนี้ ย่อมส่งผลให้การออกแบบการเรียน ประสบการณ์การเรียน รวมถึงผลลัพธ์ในการเรียนแตกต่างกันไปด้วย คนที่ทำคอร์ส หรืออยู่ในวงการทำ Content เพื่อพัฒนาตัวเอง ก็อาจจะต้องเก็บไปคิดต่อว่า เนื้อหาหรือวิชาที่เรากำลังสอน หรือกำลังออกแบบอยู่นี้ เหมาะกันผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่แค่ไหน เราทำให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมหรือเปล่า เราทำให้ผู้เรียนเลือกสิ่งที่จะเรียนได้ง่ายแค่ไหน เราออกแบบเนื้อหาโดยสอดแทรกประสบการณ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจได้ง่ายขึ้นหรือเปล่า เราทำให้ผู้เรียนเห็นความจำเป็นต่อสิ่งที่เราเรียน รวมถึงเห็นปัญหาที่จะเอาความรู้นี้ไปแก้หรือเปล่า และสุดท้าย สิ่งที่ยากที่สุด เราจะทำให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจในการเรียนด้วยตัวเองได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้ ก็เป็นปัญหาที่ต้องขบคิดกันต่อไป