Work

การย้ายงานจาก Corporate ไป Startup ปีที่ 2 (ภาค 3) โอกาสเป็นเรื่องของความ น่าจะเป็น

https://www.freepik.com/free-photo/group-diverse-people-having-business-meeting_2894621.htm

“กูว่าการเติบโตใน บริษัทขนาดใหญ่ มันเหมือนต้นไม้ที่โตในกล่อง มันปลอดภัยนะ จะโตเร็วแค่ไหน มันก็มีเพดานของกล่องกันไว้อยู่ดี ถึงย้ายไปบริษัทใหม่ที่ใหญ่ขึ้น มันก็แค่เปลี่ยนเป็นกล่องที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่บริษัทขนาดเล็ก โดยเฉพาะ Startup มันไม่มีของที่เรียกว่ากล่องอยู่ตั้งแต่ต้น มึงอยากโตเท่าไหนก็อยู่ที่ตัวมึง แต่มันก็ไม่มีอะไรป้องกันมึงเหมือนการมีกล่องนะ”

ประโยคข้างบนนี้ เป็นคำพูดที่เคยบอกน้องคนหนึ่งไว้ ก่อนที่จะลาออกจากบริษัทเก่า และปรากฏอยู่ในบทความแรกของซีรีส์นี้ ก่อนจะมีภาคต่อตามมาปีที่แล้ว พอจะเริ่มเขียนของปีนี้ ประโยคที่เคยพูดกับน้องเรื่องต้นไม้กับกล่อง มันก็ผุดขึ้นมาในหัว

ไม่นึกเหมือนกันว่า จากวันนั้นเวลาจะผ่านมาแล้วถึง 2 ปีเต็ม

ตั้งแต่ย้ายงานมา ผมก็ตั้งใจไว้ว่าจะพยายามมาสรุปประสบการณ์ในการเปลี่ยนมาทำงานในบริษัท Startup เพื่อเก็บเป็นบันทึกของชีวิต และอยากจะแบ่งปันไว้ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น

ในปีที่ 2 ของการทำงานที่นี่ ขอสรุปด้วยคำสั้นๆ คำเดียวว่า

โอกาส

เมื่อพูดถึงเรื่อง “โอกาส” หลายคนก็มักจะคิดว่าเป็นเรื่องของ ดวง เรื่องของ โชคชะตา เรื่องของต้นทุนชีวิต บลาๆๆๆๆ และมักจะคิดไปถึงเรื่องที่ยิ่งใหญ่ จะต้องเป็นโอกาสครั้งเดียวที่เปลี่ยนชีวิตไปเลย อะไรทำนองนี้

ในปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับเลยครับว่า มีโอกาสที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่าเกิดครั้งเดียวแล้วชีวิตเปลี่ยนในทันที เหมือนถูกหวยแบบนั้น แต่กลับเป็นเหตุการณ์ หรือเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้น ผสมรวมกันตลอดทั้งปี บางเรื่องที่ตอนแรกผมก็ไม่คิดหรอกว่าเป็นโอกาส แต่พอลองมามองย้อนกลับไป ก็พบว่า สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้นที่จริงแล้ว เป็นโอกาสดีๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของผมเลยครับ

โอกาสในการเริ่มทำสิ่งที่ท้าทาย

ปีที่ผ่านมา หลังจากทำงานครบปีได้ไม่นาน ผมก็ได้รับโอกาสให้ดูแล Product ตัวหนึ่ง เป็น Platform เรียนออนไลน์ ที่ต้องทำให้เสร็จใน 2 เดือน และต้องสามารถใช้งานได้บนทุกแพลตฟอร์มหลังจากนั้นอีก 2 เดือน (รวมเป็น 4 เดือน)

Product นี้มาพร้อมโจทย์ที่ว่า Content ที่อยู่บน Platform นี้จะต้องปลอดภัย ในขณะที่ตอนนั้น คนอื่นในบริษัท กำลังก้มหน้าก้มตาทำ Project อื่นกันอยู่ ผมก็ต้องแยกตัวออกมา Research หา Solution เพื่อหาคำตอบให้โจทย์ของ Product นี้ ก่อนที่จะมีน้องๆ ตามมาช่วยอีก 2 คนหลังจากนั้นไม่นาน (หนึ่งในนั้นเป็นน้อง dev ที่จบสถาปัตย์ ติดตามเรื่องของน้องเขาได้ที่นี่)

สุดท้าย ทีมเราที่มีอยู่ไม่กี่คนตอนนั้นก็ทำมันได้สำเร็จ ผมต้องยอมรับว่าน้องๆ ในทีมเราเก่งจริงๆ

พอตอนนี้มานั่งคิด ก็รู้สึกว่าพี่ๆ เขาก็ใจกล้าเหมือนกัน ที่ไว้วางใจให้เรามาดูแลงานตรงนี้ เอาจริงๆ ก็ไม่คิดนะว่าจะได้รับโอกาสแบบนี้ ถ้าไม่ได้ย้ายมาอยู่บริษัทขนาดกลางค่อนไปทางเล็ก ที่ไม่ได้มีโครงสร้างซับซ้อนอย่างนี้ (ใช่ครับ บริษัทเราขยายขึ้นมาก จนเกินกว่าจะเรียกว่าขนาดเล็กแล้ว)

โอกาสในการทำงานกับคนเก่งๆ ที่เยอะขึ้นเรื่อยๆ

ปี 2562 เป็นปีบริษัทเรามีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากวันแรกที่ผมเข้ามาเริ่มทำงานที่นี่ ห้องขนาด 20 ตรม. สามารถจุคน 13 คนได้ ซึ่งตอนนี้ห้องนั้นจุไม่ได้แล้ว ไม่ใช่ว่าน้ำหนักของสมาชิกของเราเพิ่มขึ้นหรอกนะครับ แต่เป็นเพราะบริษัทเรามีคนเพิ่มถึง 38 คนแล้วนะครับ จน MD ของเราต้องเตรียมที่เตรียมทางที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้เราขยาย (จำนวน) ได้มากกว่านี้

คนที่เข้ามาเพิ่มในปีที่ผ่านมาแต่ละคน ก็ต้องยอมรับเลยครับว่าบริษัทของเรา คัดคนได้เคี่ยวมากๆ เพราะคนที่ผ่านด่านอรหันต์เข้ามาได้ คือเก่งมากจริงๆ น้องๆ dev หลายๆ คนเก่งกว่าผมเยอะ บางเรื่องยังต้องให้น้องสอนเลยครับ ส่วนทีมอื่นๆ ก็ใช่ย่อย ทีม designer ของบริษัทเราเป็นทีมที่เรียกว่า เสกงานเร็วและเนี๊ยบได้เป็นว่าเล่น จนงานของ designer เรากลายไปเป็นแรงบันดาลใจให้งานของคนอื่นอยู่หลายครั้ง ทีม BD (Business Development) นี่ก็ไม่น้อยหน้า เดินไปเยี่ยมเยียนแต่ละที แต่ละคนก็ต้องอยู่ในท่าถือโทรศัพท์คุยกับลูกค้า ขายกันอย่างไม่ยอมแพ้ ภาพจำปีที่แล้วคือ standy ริมหน้าต่าง ค่อยๆ มีคนมาเติมทีมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้น่าจะเต็มแล้วแหละครับ

มันสนุกจริงๆนะครับ การได้ทำงานกับคนเก่งๆ จากสาขาอื่นๆ หลายงานที่ได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันระหว่างทีม ก็ทำให้เราได้แนวคิดที่ cross discipline มากขึ้น ซึ่งช่วยให้ได้ Solution มาแก้ปัญหาในทีมเราได้ด้วย

โอกาสที่ Product ที่เคยเล็กๆของเรา กลายเป็น direction หลักของบริษัท

ตอนแรกจะตั้งชื่อหัวข้อนี้ว่า “โอกาสในการทำงานที่มี impact” เพราะเป็นสิ่งที่รู้สึกจริงๆ แต่เปลี่ยนเป็นอันนี้เพราะคิดว่าคงเป็นภาพที่ชัดกว่า ซึ่ง Product ที่พวกเราใช้เวลา 4 เดือนสร้างกันขึ้นมานั้น มีชื่อว่า Learn Anywhere (เป็น Learning Platfom ที่ทำให้เด็กนักเรียน สามารถเรียนที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้)

ตอนแรกคิดว่าจะเป็น Product ทดลอง (แบบ online) ขายควบคู่ไปกับ Product เดิมที่มีอยู่ (ที่เป็น Product แบบ offline) กลับกลายเป็นว่า คนสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ จนยอดขายเพิ่มขึ้นเยอะมาก และในเวลาต่อมา Product ทดลองของเรา ก็ถูกนำไปเป็นช่องทางให้บริษัทอื่นในเครือ มาใช้เพิ่มช่องทางการขายด้วยเช่นกัน

โมเมนต์ที่เรารู้สึกว่า เออ งานของเรามันมี impact เหมือนกันในปีที่แล้ว มีอยู่ด้วยกัน 2 เหตุการณ์ เหตุการณ์แรก คือตอนที่มีการสร้าง event ให้เด็กนักเรียนแชร์ว่า ระบบเรียน Learn Anywhere ช่วยน้องๆ อย่างไรบ้าง พอเราได้อ่าน feedback ของน้องๆ น้องบางคนบอกว่า ระบบของเรา เปลี่ยนชีวิตเขาไปเลย น้องไม่ต้องเดินทางออกมาเรียนพิเศษไกลๆ ในวันเสาร์อาทิตย์อีกต่อไป น้องๆ หลายคนได้ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น ได้มีเวลาทบทวนการเรียนอยู่ที่บ้านได้ทุกเวลา หรือน้องบางคนที่ในจังหวัด ไม่มีสาขาที่จะเรียนพิเศษได้ ก็ได้โอกาสที่จะเรียนได้เหมือนกัน ตอนที่ได้อ่านพร้อมกับน้องๆ คนอื่นในทีม เราก็รู้สึกได้เลยว่า งานของเรามันมีประโยชน์ ซึ่งมันเป็นความรู้สึกที่พิเศษจริงๆ

อีกเหตุการณ์หนึ่ง คือตอนได้เข้าไปร่วมสังเกตการณ์ ในการประชุม direction ของบริษัทในปีหน้า สิ่งที่เราได้เห็น และได้ยินตลอดวันนั้น คือชื่อ Product ที่พวกเราทำ ที่ ณ วันนี้กลายเป็น direction หลักที่ทุกคนมุ่งไปหา พอหันไปมองหน้าทีมที่ไปด้วยกันในวันนั้น มันก็เป็นความรู้สึกที่อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน

ยิ่งช่วงต้นปีที่ผ่านมา Platform ของเรา เริ่มมีคนสนใจมากขึ้น เราก็เลยต้องทำงานกันหนักมากขึ้น เพราะนอกจากจะมีคนสนใจจะใช้แล้ว ก็ยังมีคนสนใจจะทำเพิ่มขึ้นมาในตลาดเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็รีบปรับตัวอีกครั้ง

เราเริ่ม Focus ไปที่ Product ที่เป็น Platform as a Service ของเรามากขึ้น ทุกทีมเริ่มมองไปในทิศทางเดียวกัน เริ่มตั้งแต่ทีม dev จากทำกันหลาย Project ก็เริ่มเข้ามารวมกันทำบน Platform กลาง เพื่อให้เราสามารถ Scale Platform ของเราได้

ทีม Designer ที่ต้องทำการบ้านกันหนักขึ้น เพื่อทำการผสาน UX/UI ของหลาย Project ให้มาอยู่บน Platform นี้ และออกแบบเผื่อ เพื่อให้พร้อมสำหรับ Project อื่นๆ ที่จะเข้ามาใช้ Platform นี้ในอนาคต ส่วนทีม BD เอง นอกจากจะต้องขายคอร์สและเวิร์คชอป ทั้ง Online และ Offline แล้ว ทีม BD ผู้น่ารักของเราก็เริ่มที่จะขาย Platform เริ่มหาลูกค้ามาให้เรามากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจจะต้องเพิ่ม Standy ริมหน้าต่างใน BD ของเรา

แม้ว่าจะมีคนสนใจจะทำ Platform ลักษณะนี้มากขึ้นในตลาด ในทางกลับกัน ทีมเรากลับพยายามไม่รีบรับงานทุกงานที่เข้ามา เราพยายามอย่างยิ่งที่จะเลือกรับเฉพาะงานที่จะเป็นประโยชน์กับคนใช้จริงๆ และได้ของที่มีคุณภาพจริง อันนี้ต้องขอบคุณทุกคน ทุกฝ่ายจริงๆ

โอกาสในการเจอปัญหามากมาย

เมื่อมีคำชม ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะมีคำวิจารณ์ตามมา แม้เราจะพยายามควบคุมคุณภาพ Product เรามากแค่ไหน สุดท้ายมันก็มักจะมีมุมที่เรามองข้ามไปเสมอ และกลายเป็น Bug เกิดขึ้น หรือเวลามีโอกาสได้พูดคุยกับเด็กนักเรียนโดยตรง ได้คุยกับ User ของเราจริงๆ ก็มักจะมี feedback ที่เราไม่คิดมาก่อน มีคำวิจารณ์ที่เป็นประโยชน์เมื่อเราเจอกับปัญหาและคำวิจารณ์เหล่านี้ สิ่งที่ทีมทำส่วนใหญ่ก็คือ หาทางแก้ หาทางปรับปรุง ตลอดเวลา บางปัญหา เราพยายามแก้ ก็กลับกลายเป็นว่า มีปัญหาใหม่จากสิ่งที่เราแก้ขึ้นไป 5555 เรื่องนี้สาย Tech หลายๆ คนน่าเข้าใจ แล้วก็น่าจะคุ้นๆ กันดีกับเหตุการณ์ Hotfix สำหรับแก้ bug1 ทำให้เกิด bug2

น้องคนหนึ่งในทีม เคยติดสติกเกอร์ที่ laptop ว่า “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้แก้งาน” ถึงกับต้องดึงออก เพราะว่ามีงานเข้า มาให้แก้ไม่หยุดไม่หย่อน ช่วงหลังๆ น้องถึงกับบอกว่า “ผมว่าเราต้องทำบุญกันบ้าง” กลายเป็นเรื่องตลกกันไป

อีกปัญหาที่ไม่เคยเจอ ไม่เคยต้องแก้ไขด้วยตัวเองมาก่อน ก็คือการ Support การใช้งานจำนวนมาก แม้จะไม่ยิ่งใหญ่เท่าระบบ ไทยชนะ หรือ เราไม่ทิ้งกัน แต่ก็นับว่ามีเด็กๆ มาใช้งานจำนวนมาก เรียกได้ว่าหลักหลายหมื่นคนต่อวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ใหม่มากสำหรับผมก็ว่าได้ เมื่อก่อนตอนอยู่ Corporate ก็พอมีความรู้อยู่บ้าง แต่ก็จะมีทีมที่คอยดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ พอต้องมาดูด้วยตัวเอง ก็พบว่า มีหลายปัญหาที่เราเคยเข้าใจ มันกลับไม่ได้เป็นแบบที่เคยคิด มันมีปัจจัยหลายๆ อย่าง ที่พอมาดูที่หน้างานด้วยตัวเองถึงได้รู้ แล้วก็ต้องหาทางแก้ไขกันในเวลาที่จำกัด ซึ่งเป็นความท้าทายครั้งหนึ่งของชีวิตผมเลย

เอาจริงๆ เวลางานมีปัญหาเกิดขึ้น หลายๆ ครั้ง เราก็รู้สึกเหมือนเล่นเกมส์ แล้วมีบอสตัวใหม่ หรือด่านใหม่ ออกมาให้เอาชนะ เราก็จะช่วยกันคิด ช่วยกันทำ

ตั้งแต่ทำงานที่นี่มา สิ่งที่ไม่เคยเห็นเลยคือ เมื่อมีปัญหาแล้วมาชี้นิ้วโทษกัน แล้วเกี่ยงกันแก้ปัญหา แต่จะเป็นภาพที่ทุกคนเข้ามาช่วยกันมากกว่า ว่ามีอะไรให้ช่วยไหม พอ crisis ผ่านไป และปัญหานั้นคลี่คลายไปได้ด้วยดี เราก็มักจะมา reflect กันว่าจะป้องกันยังไง และทุกๆ ครั้งเราก็มักจะได้ความรู้และประสบการณ์มากขึ้น เหมือนรอยแผลเป็นของนักรบผู้เจนสงคราม (อย่างเว่อ)

เมื่อมาลองนั่งคิด นั่งไล่ดู timeline ชีวิต แล้วดูโอกาสที่เกิดขึ้นกับตัวเองทั้งหมดในปีที่แล้ว (ซึ่งจริงๆ มีมากกว่านี้ ถ้าอยากรู้ แวะมานั่งคุยกันได้ครับ) ก็ตั้งคำถามกับตัวเองนะ ว่าทำไมโอกาสเหล่านั้น ถึงเกิดขึ้นกับเรา แล้วโอกาสเนี่ย มันมีขีดคำกัดหรือเปล่า มันมีสูตรคำนวณไหม ชีวิตของแต่ละคน ทำไมบางคนได้รับโอกาสเยอะ บางคนไม่ได้รับโอกาสเลย ปัจจัยมันคืออะไร คิดอยู่หลายวัน จนได้เป็นแนวคิดคร่าวๆ มาประมาณนี้ครับ

โอกาสเป็นเรื่องของความน่าจะเป็น

อันนี้เป็นความคิดของผมคนเดียวเท่านั้นนะครับ ไม่มีทฤษฎีอะไรมารองรับ ไม่แนะนำให้เอาไปใช้เป็นหลักการอะไรทั้งสิ้น แค่อยากจะแชร์ให้อ่านกัน

ความน่าจะเป็นนั้น สูตรของมันคือ จำนวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น / จำนวนเหตุการณ์ทั้งหมดที่เป็นไปได้

ซึ่งความน่าจะเป็นของโอกาสที่จะเข้ามาในชีวิตนั้น ก็ขึ้นอยู่กับ

จำนวนโอกาสที่เข้ามาจริงๆ /จำนวนโอกาสที่มีอยู่ทั้งหมดในชีวิตเรา

ซึ่งปัญหามันอยู่ที่ตัวล่างนี่แหละครับ เราไม่ทางรู้เลยว่า จำนวนโอกาสในชีวิตของเรานั้น จริงๆ มีอยู่เท่าไหร่กันแน่ อาจจะมีแค่ครั้งเดียว 2 ครั้ง หรือหลายๆ ครั้งก็ได้ ที่ยากก็คือเราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ไอ้เหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเราแต่ละวันนั้น อยู่ใน set ของโอกาสทั้งหมดในชีวิตเราหรือเปล่า แล้วเราได้เอามันมาเป็นโอกาสให้ชีวิตเราจริงๆหรือเปล่า

โอกาสเป็นของคนที่พร้อม

ทีนี้ พอเราไม่รู้จริงๆ ว่าโอกาสทั้งหมดมีเท่าไหร่ ทางเลือกหนึ่งของเราคือต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา ให้คิดว่าเลขตัวล่างคือวันแต่ละวันในชีวิต เริ่มง่ายๆ ด้วยเลข 365 ว่าใน 1 ปี เราจะใช้แต่ละวันให้เป็นโอกาสของตัวเองแค่ไหน เราต้องพร้อมทั้งความรู้และประสบการณ์

สิ่งหนึ่งที่ผมได้จากตอนที่ทำงานในบริษัทเก่า (ที่เป็น Corporate) คือหัวหน้าเก่าผมบอกว่า เวลาเขาจะ Promote ใคร เขาไม่ได้ Promote มาเพื่อทำหน้าที่นั้น แต่เขา Promote เพราะคนนั้นทำหน้าที่นั้นอยู่แล้ว ซึ่งพอเป็นเรื่องโอกาส ผมก็แนะนำได้อย่างหนึ่งว่า ให้เราเตรียมตัวให้พร้อม และคิดเสมอว่า เราได้โอกาสนั้นมาแล้ว

ตัวอย่างเช่น ถ้าอยากจะได้รับโอกาสให้เลื่อนขั้นเป็น Senior Dev ไม่ใช่ว่าต้องรอให้มีคนมาเลื่อนขั้นเรา หรือรอให้ job title เปลี่ยนก่อน เพื่อจะทำหน้าที่ Senior แต่ให้เราทำหน้าที่ Senior คิดอย่าง Senior เลยตั้งแต่ยังไม่ได้เป็น

หรือถ้าเราอยากได้รับโอกาสให้ดูแล Product ใดๆก็ตาม ก็ให้เราคิดตั้งแต่วันนี้เลยว่า เราเป็นเจ้าของ Product นั้น แล้วถ้าเราเป็นเจ้าของ Product นั้นแล้วเราจะต้องทำอะไรบ้าง ก็ให้ทำตั้งแต่วันนี้ไปเลย

ข้อแนะนำข้อแรกเลย ใช้ชีวิตให้พร้อม เหมือนว่าได้รับโอกาสนั้นไปแล้ว เมื่อวันที่โอกาสมาถึงจริงๆ เราก็จะพร้อมที่จะตอบรับโอกาสนั้นทันที โดยไม่ลังเล

โอกาสเป็นเรื่องของการสร้างขึ้นมา

นอกจากเราต้องเตรียมตัวให้พร้อมแล้ว อีกทางเลือกหนึ่งที่ผมคิดว่าทำได้ก็คือ “สร้างมันซะเลย” ช่วงนี้โลกกำลังฮิตกับคำว่า artificial intelligence หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ผมเลยมาลองชวนทุกคนมาสร้าง artificial opportunity หรือ โอกาสประดิษฐ์ ด้วยการให้เราพาตัวเองไปอยู่ในที่ๆ เราจะมีโอกาสมากขึ้น

จริงๆ พอมองย้อนกลับไปคิดดู สิ่งที่ผมได้ทำเมื่อ 2 ปีก่อน ก็เป็นวิธีสร้างโอกาสประดิษฐ์ ขึ้นมาเหมือนกัน คือผมพาตัวเองออกมาจาก Corporate ที่ขนาดองค์กรที่ใหญ่ ทำให้โอกาสที่คนจะมองเห็นสิ่งที่เราทำว่ามี impact มันอาจจะไม่มาก ผมก็เลยเพิ่มโอกาสให้ตัวเอง ด้วยการมาทำงานในบริษัท Startup ที่ๆ คนจะเห็นความสามารถของเรามากขึ้น

ผมแนะนำให้ลองมองหาดูครับ ว่าที่ตรงไหน เหตุการณ์แบบไหน หรืองานแบบใด ที่อาจจะเป็นบริบทให้เราสร้างโอกาสประดิษฐ์ของเรา ตัวอย่างที่พบได้ทั่วไปเช่น ถ้ามีพี่ในทีมติดปัญหา และกำลังต้องการความช่วยเหลือ เราสามารถทำเหตุการณ์นี้ให้เป็นโอกาสของเราง่ายๆ ด้วยคำว่า “พี่ครับ ให้ผมช่วยทำงานนี้ได้นะครับ”

ข้อแนะนำข้อที่สอง สร้างโอกาสประดิษฐ์ (artificial opportunity)ด้วยการให้เราพาตัวเองไปอยู่ในที่ๆ เราจะมีโอกาสมากขึ้น

โอกาสของเรา อาจไม่จำเป็นต้องเป็น “ตัวเราเอง” เท่านั้น

สิ่งหนึ่งในปีที่ผ่านมา ที่ผมรู้สึกว่าเปลี่ยนไปในตัวเองก็คือ ผมเริ่มทำงานโดยไม่ค่อยสนใจว่าใครจะมองเห็นส่ิงที่ผมทำหรือไม่แล้ว แต่กลับสนใจว่าน้องในทีมที่ทำงานหนัก มีคนรู้หรือเปล่ามากกว่า

ผมเริ่มอยากให้น้องๆ ได้รับโอกาสเหมือนที่ผมได้รับ อยากให้คนเห็น impact ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของทีมมากขึ้น ผมเริ่มเห็นว่า สมการความน่าจะเป็นเนี่ย ถ้าเราทำคนเดียว มันก็อาจจะดี แต่ถ้าเราคิดให้ลึกลงไปอีก ไอ้โอกาสที่จะเกิดขึ้นในชีวิตเรา บางครั้งก็ไม่ได้เกิดจากเราคนเดียว แต่อาจจะเกิดจากผู้คนที่เราทำงานด้วย เพื่อนร่วมงาน น้องในทีม หัวหน้าของเรา ซึ่งถ้าช่วยกันทำหรือทำด้วยกัน มันน่าจะดีกว่า

การที่เราเข้าไปมีส่วนในการสร้างโอกาสให้เขาเหล่านั้น นอกจากเป็นการช่วยเพื่อนรอบข้างของเราแล้ว ยังเป็นเหมือนการสร้างโอกาสให้ตัวเราเองทางอ้อม ด้วยการเพิ่มเหตุการณ์ที่อาจจะเป็นโอกาสของเรามากขึ้น ซึ่งเหตุการณ์นี้อาจจะไม่ได้อยู่ใน set ของโอกาสทั้งหมดในชีวิตเราตั้งแต่แรก แต่เราเป็นคนเพิ่มขึ้นมา ผ่านโอกาสของคนอื่นที่เราเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง

ยิ่งเราช่วยคนอื่น ยิ่งทำให้ความน่าจะเป็นของเรามากขึ้น จนวันหนึ่ง มันอาจจะเกินขีดจำกัดของความน่าจะเป็นที่เท่ากับ 1 (จำนวนโอกาสที่เข้ามาจริงๆ = จำนวนโอกาสที่มีอยู่ทั้งหมดในชีวิตเรา) ไปโดยที่เราไม่รู้ตัวเลยก็ได้ ซึ่งสมการความน่าจะเป็นของโอกาสในชีวิตเราจะกลายเป็น

( จำนวนโอกาสที่เข้ามาจริงๆ +จำนวนโอกาสที่เราเข้าไปช่วยเหลือคนอื่น ) /
จำนวนโอกาสที่มีอยู่ทั้งหมดในชีวิตเรา

เพราะฉะนั้น คำแนะนำสุดท้ายของเรื่องโอกาสในบทความนี้คือ

เพิ่มโอกาสในชีวิตของเรา ด้วยการเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือ และช่วยสนับสนุนในเหตุการณ์ที่เป็นโอกาสของคนอื่นเสมอๆ

คำว่า “โอกาส” ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ทำให้ผมได้เติบโตขึ้นมาก โตทั้งตัว (T_T) โตทั้งความรู้ ความคิด และประสบการณ์ โตได้อย่างไม่มีใครมาบอกว่าโตได้แค่ไหน ไม่มีกล่องใดๆ มาครอบเอาไว้ อยากโตเท่าไหน ก็อยู่ที่ตัวเราเอง ผมอยากให้ทุกคนลองถามตัวเองเสมอๆ ว่า

  1. เราใช้โอกาสได้ดีแค่ไหน
  2. เราพร้อมสำหรับโอกาสนั้นหรือไม่
  3. เราสร้างโอกาสให้ตัวเองหรือเปล่า
  4. เราได้มีส่วนร่วมในโอกาสของคนอื่นหรือไม่

คำว่า “โอกาส” ที่จริงแล้วผมว่ามันมีปัจจัยอื่นอีกเยอะแหละครับ ที่ทำให้แต่ละคนได้รับโอกาสไม่เท่ากัน อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนชีวิตที่ไม่เท่ากัน หรือมันอาจจะเป็นเรื่องของดวงก็ได้ ส่วนที่ผมเอามาแบ่งปัน น่าจะเป็นการจัดการกับโอกาสในการทำงานของผมแล้วกันครับ ถ้าคิดว่าเป็นประโยชน์ ก็ลองเอาไปใช้กันดูครับ

ถ้ามี “โอกาส” ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ปีหน้าจะมาเขียนเรื่องอะไรดี แต่คิดว่าต้องเป็นปีที่สนุกและท้าทายมากขึ้นแน่ๆ เพราะทีมที่โตขึ้นเรื่อยๆ (ปลายปีเราจะย้ายไปออฟฟิศใหม่ที่ใหญ่ขึ้น) โอกาสทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป โจทย์ใหม่ๆ ปัญหาใหม่ๆ โลกกำลังจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน อย่างที่หลายๆ คนใช้คำว่า new normal มองไปตรงไหนก็ new normal ที่จริงผมว่ามันก็ไม่ได้ new normal หรอก เพราะวิถีชีวิตคนเรามันเปลี่ยนไปทุกๆ วันอยู่แล้ว เพียงแต่รอบนี้เปลี่ยนเยอะหน่อย ในเวลาที่สั้นไปหน่อย ถ้าจะเรียกก็ต้องเรียกว่า

Normal in the future is coming to now

ซึ่งยาวเกินไป โอเคๆ เรียก new normal ก็ได้

(ทิ้งท้าย) โอกาสบางครั้งก็มาจากวิกฤติจริงๆ

ในช่วงวิกฤติไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-2019 ที่ผ่านมา ก็ต้องยอมรับว่าหลายๆ กิจการได้รับผลกระทบ (บริษัทเก่าผม layoff คนไปพันกว่าคน) จริงๆ บริษัทเราก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน สิ่งหนึ่งที่ช่วยเราไว้ คือ Platform ของทีมเรา ที่ทำให้เด็กๆ ยังสามารถที่จะเรียนได้อยู่ แม้จะอยู่ที่บ้าน และไม่ต้องเสี่ยงออกมาเรียนข้างนอก ซึ่งทีมเราเริ่มคุยกันเรื่องนี้ตั้งแต่มีข่าวการติดเชื้อในไทยแรกๆ ก่อนจะมีประกาศ lock down แล้วว่า ทำยังไงดี เพื่อให้เด็กไม่ต้องออกมาเรียนข้างนอกบ้าน ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ พวกเราก็เลยรีบทำให้เด็กที่เลยเรียนบน Platform เดิม ที่ต้องออกมาข้างนอกบ้าน สามารถมาเรียนบน Platformใหม่ของเราได้ทั้งหมดในทันที ซึ่งกลายเป็นว่า เป็นการตัดสินใจที่สร้างโอกาสให้ทั้งเรา และเด็กๆ ท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้น ต้องขอบคุณผู้ที่มีส่วนในการตัดสินใจนี้ทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *