(ภาคต่อ) การย้ายงานจาก Corporate ไป Startup ด้วยเงินเดือนที่ลดลง — 1 ปีแห่งการขยาย Comfort Zone
เมื่อช่วงนี้ของปีที่แล้ว ผมได้ตัดสินใจย้ายงานจาก Corporate ไป Startup แล้วก็ได้เขียนเหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจนั้นไว้ (ย้อนไปอ่านได้ครับ) ตอนนี้ผมก็ได้ทำงานในบริษัท Startup นั้นมาจะครบปีและ (จะครบในวันที่ 2 พ.ค. นี้) ก็เลยคิดว่าควรจะมาอัปเดตหน่อยว่า ที่ตัดสินใจไปนั้นถูกหรือไม่ เป็นอย่างที่ตั้งใจไว้หรือเปล่า เหมือนเป็นการ Reflection ประจำปีด้วย ว่าในปีที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นบ้าง
ถ้าจะสรุปปีที่ผ่านมา “แบบมีสาระและข้อคิดสอนใจ” คงสรุปได้ว่าเป็นปีแห่งการขยาย Comfort Zone อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจเปลี่ยนงานในตอนนั้น ผมไปเจอรูปด้านบนมาจากสักโพสในเฟสบุ๊ค แม้จะจำไม่ได้แล้วว่าโพสอะไร แต่คิดว่ารูปนี้สามารถอธิบายปีที่ผ่านมาของผมได้อย่างดี โดยสามารถแบ่งเรื่องราวของ 1 ปีที่อยู่ที่นี่ได้เป็น 3 ระยะด้วยกัน นับตั้งแต่ออกจากระยะ Comfort Zone มา
ระยะ Fear Zone
เมื่อก้าวเท้าออกมากจาก Comfort Zone ก็เจอของแข็งเลยครับ ระยะ Fear Zone ตอนแรกก่อนที่จะเข้ามา ก็คิดว่าเราคงเจ๋งประมาณหนึ่ง คงได้เอาของมาโชว์ ได้เอาประสบการณ์ความรู้จาก Corporate มาใช้ได้ คงเรียนรู้เพิ่มไม่มาก แต่พอมาเริ่มทำงานจริงก็พบว่า ยังมีคนที่เก่งกว่าเราเสมอ พี่ๆ ที่ทำงานที่นี่เก่งกันมากทุกคน สุดท้าย กลับกลายเป็นผมเองที่ได้โอกาสในการเรียนรู้ ได้โอกาสในการลองทำ ลองผิดลองถูก ได้รู้ว่าเรายังไม่รู้อะไรอีกบ้าง ซึ่งผมว่ามันเป็นสิ่งสำคัญมากที่ต้องรู้ว่า เรายังไม่รู้อะไร ยอมรับว่าช่วงแรกๆ ก็แอบมีเสียความมั่นใจไปบ้าง เพราะคาดหวังกับตัวเองไว้มากกว่านี้ ต้องขอบคุณพี่ๆ ที่นี่ที่ให้โอกาสได้ลองทำอะไรหลายๆ อย่าง ที่จริงต้องบอกว่าทำพังไปหลายอย่าง แต่ก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ทุกครั้ง สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้ระหว่างอยู่ใน Fear Zone ก็คือ
- จงอดทน กับความโง่ของตัวเอง ช่วงแรกๆ ที่เริ่มอะไรใหม่ เป็นปกติมากที่จะรู้สึกเหมือนว่าตัวเองโง่ ไม่รู้อะไรสักอย่าง ช่วงนี้จำเป็นมากที่ต้องทนกับตัวเอง อย่าเพิ่งเสียกำลังใจ ให้รู้ว่าตัวเอง “ยัง” ไม่รู้ก็แค่นั้น ถ้ายังไม่รู้ก็ไปทำให้มันรู้ในข้อ 2
- จงอดทน กับการพยายามทำให้ตัวเองหายโง่ เมื่อรู้ว่าเรายังไม่รู้อะไร ให้ลองหาความรู้ด้วยตัวเองก่อน การถามผู้รู้เหมือนจะได้คำตอบเลย และเร็ว แต่เราก็จะจำได้ เข้าใจได้ ไม่เท่ากับลองหา ลองแก้ด้วยตัวเองก่อน ถ้ามันนาน หรือหาไม่ได้จริงๆ แล้วค่อยถาม ข้อนี้ต้องใช้ความอดทนมากที่จะไม่รีบถาม แต่อันนี้ก็แล้วแต่บริบท บางเรื่องก็ถามก่อนเลยก็ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องการความเข้าใจ อยากให้หาด้วยตัวเองก่อน
- จงอดทน กับการทำข้อ 1 และข้อ 2 วนไปเรื่อยๆ ถึกๆ ทนๆ ทำซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ เพราะเราคงมีเรื่องที่ไม่รู้หลายเรื่อง ทำวนไปจนลู่เข้าคำว่า “พอรู้” (ไม่อยากใช้คำว่า รู้ เพราะมันมีความรู้ใหม่ทุกวัน)
เมื่อได้ใช้ชีวิตอย่างอดทนใน Fear Zone สักพัก ก็เริ่มอยู่ตัว พร้อมที่จะก้าวขาอีกข้างเข้าสู่ Learning Zone
ช่วงเวลาของ Learning Zone
ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่นานที่สุด เพราะนอกจากจะต้องค่อยเติมสิ่งที่ไม่รู้ใน Fear Zone แล้ว มันมีสิ่งที่เรียกว่าการค้นพบความรู้ใหม่ๆ ที่เราหามาเติมไม่ได้เอง ต้องเกิดจากประสบการณ์และการพบเจอด้วยตนเอง จากรูป Comfort Zone ด้านบน จะเห็นว่าในระยะ Learning Zone นั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ Deal with Challenges and Problems, Aquire new Skills, และ Extend your Comfort Zone ส่วนตัวผมมองว่า นอกจากมันจะเป็นหัวข้อที่แยกจากกันแล้ว ในบางกรณีก็เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกันนะครับ
เริ่มจากการพบเจอกับความท้าทายและปัญหา จึงก่อให้เกิดความรู้หรือประสบการณ์ใหม่ๆ แล้ว Comfort Zone ของเราจึงขยายใหญ่ขึ้น
ซึ่งในปีที่ผ่านมานั้น ต้องบอกเลยว่าที่บริษัทนี้ เปิดโอกาสให้เราได้ Deal with Challenges and Problems เยอะมาก เนื่องจากมีโปรเจ็ค ที่เข้ามาติดกัน ซ้อนกันหลายโปรเจ็ค ทำให้มีโอกาสได้เจอบททดสอบ และปัญหามาให้แก้มากมาย ยิ่งพอมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณเข้ามา ก็ทำให้ต้องคิดวิธีการแก้ที่แตกต่างจากที่เคยทำตอนอยู่ Corporate ตัวอย่างเช่น การเตรียม API ให้พร้อมสำหรับคนที่จะเข้ามาสอบพร้อมๆกัน ในวันและเวลาเดียวกัน ต้อง Loadtest แค่ไหน ต้องเตรียมเครื่องไว้เท่าไหร่ และเพื่อประหยัดงบประมาณ เราจะเพิ่ม/ลดเครื่องตอนไหน หรือการสร้าง Mobile Application โดยใช้ Code Base เดียวกับ WebApp หรือปัญหา Business Requirement ที่เมื่อก่อนคงจะรับมาแล้วก็ทำตามหรือก็ไม่รับมาทำเลย เปลี่ยนเป็นการค้นหาความต้องการที่แท้จริงของ Requirement นั้นๆ แล้วหาทางออกที่เหมาะสม หรือการแก้ไขที่ไม่ต้องใช้แรงเขียนโปรแกรม ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ทำให้เกิดองค์ความรู้เฉพาะสำหรับการแก้ปัญหาในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น ส่งผลให้ Comfort Zone เรากว้างขึ้นจนกล้าที่จะเจอกับปัญหาที่ยากขึ้นและท้าทายกว่าเดิม
สำหรับการ Aquire new Skills ปีนี้ได้ลองทำอะไรที่ไม่เคยทำหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการลองเข้าไปช่วยทำคอร์สออนไลน์ การสัมภาษณ์งาน การเตรียมโปรแกรมสำหรับน้องฝึกงาน รวมไปถึงการช่วยจัดงาน Conference ที่หลายๆคนอาจจะเคยได้ยินมาบ้าง ชื่องานว่า Beta Conference ซึ่งในแต่ละอย่างที่ทำ ก็มีความท้าทายและปัญหาเฉพาะเป็นของตัวเองในแต่ละเรื่อง แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อนคือ เกิดการ Cross Disciplinary จากการทำงานที่หลากหลาย ปัญหาจากงานนึง สามารถในความรู้หรือประสบการณ์จากอีกงานมาช่วยแก้ปัญหาได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำ Course เป็น Sprint แบบ Scrum การเอาสิ่งที่ได้จากการเตรียมตัวน้องฝึกงาน มาใช้ในการเตรียมตัวพนักงานใหม่ ฯลฯ ซึ่งการ Cross Disciplinary หรือที่แปลตรงตัวว่า “การข้ามสาขาวิชา” นั้น ช่วยเพิ่มทางเลือกในการแก้ปัญหาได้อีกหลายเท่า
สำหรับสิ่งที่สรุปได้ในช่วงเวลาของ Learning Zone และคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์มากก็คือ
- Challenge (Problem) is the new Learning อันนี้คิดขึ้นมาเอง ว่าเราควรจะมองความท้ายหรือปัญหา ให้เป็นการเรียนรู้แบบใหม่ หรือที่ในวงการการศึกษาเรียกว่า PBL (Problem Based Learning) ปรับมุมมองที่มีต่อความท้าทายและปัญหา จากสิ่งน่ากลัวที่ทุกคนต้องหลบหรือหลีกเลี่ยง ให้เป็นโอกาสในการหาวิธีแก้และเกิดเป็นความรู้ใหม่ ถ้ามองเป็นเกม แต่ละปัญหาก็คือบอสตัวใหม่ที่ต้องตีให้ตาย เพื่อจะไปใน Level ถัดไป
- Always have Lessons Learned ผมว่าอันนี้สำคัญสำหรับการใช้ชีวิตใน Learning Zone มากเลย ในหลายๆ บริษัท มักมองว่า Lessons Learned จะต้องมีเมื่อเกิดปัญหา แต่ที่จริงแล้ว การมี Lessons Learned เมื่อทำงานประสบความสำเร็จ เพื่อสรุปว่า Best Practices ที่ทำให้งานสำเร็จคืออะไร ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ที่จริงต้องบอกว่า ควรจะมี Lessons Learned ในทุกๆ ครั้งเมื่อจบงาน เพื่อให้รู้ว่า เราได้ความรู้หรือประสบการณ์อะไรเพิ่มขึ้นจากสิ่งที่ทำอยู่มากน้อยแค่ไหน
- More Solutions with Cross Disciplinary ถ้าวิธีการแก้ปัญหาที่มีอยู่ ใช้แก้ปัญหาปัจจุบันไม่ได้ ให้ลองมองความรู้ในศาสตร์อื่น หรือวิธีการแก้ปัญหาจากสายงานอื่นที่แตกต่างกันมาลองปรับใช้ดู เพื่อเพิ่มทางเลือกในการจัดการกับปัญหาหรือความท้าทายตรงหน้า เอาจริงๆ อยากให้มองว่า Cross Disciplinary จะมีประโยชน์มากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับแต้มบุญ แต้มบุญที่ว่าคือ จำนวน Disciplinary ที่เรามี ว่ามีให้ Cross มากแค่ไหน ตัวอย่างการ Cross Disciplinary ที่ผมว่าน่าประทับใจมากเมื่อเร็วๆ นี้ คือการถ่ายภาพหลุมดำ ที่ใช้องค์ความรู้จาก Computer Science มาช่วยในงานสาขาวิชาดาราศาสตร์
การใช้ชีวิตอยู่ใน Learning Zone มันก็มีความสุขดีอยู่แหละครับ มันก็คือการขยาย Comfort Zone ของเราให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ ตามตัวงานที่เข้ามา รวมถึงปัญหาและความท้าทายที่เราต้องเจออยู่เรื่อยๆ เป็นประจำ ซึ่ง Learning Zone เป็นสถานที่ผมใช้ชีวิตอยู่บ่อยที่สุดในการทำงาน 1 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งมันถึงเวลาที่เราจะต้องกำหนดทิศทางการขยาย Comfort Zone ด้วยตัวเอง เมื่อนั้น
ขอต้อนรับสู่ Growth Zone
ขอคั่นช่วงมีสาระไว้ด้วยเรื่องสัพเพเหระ คุณสามารถข้ามไป Growth Zone ได้เลยครับ
ก่อนจะไปถึง Growth Zone ผมขออนุญาตเชื่อเอาเองแล้วกันว่า หลายคนคงมีคำถามในใจ ว่าสรุปแล้ว ที่ทำงานใหม่เป็นอย่างไร, ต้องปรับการใช้ชีวิตเยอะมั้ย, สรุปแล้วตัดสินใจถูกไหม, ผลประกอบการปีที่ผ่านมาดีหรือเปล่า ที่ต้องเอามาคั่นตอนนี้เพราะอยากให้ บทความนี้จบด้วย Growth Zone (แต่มีคนถามมาพอสมควรจริงๆ) งั้นมาตอบกันทีละคำถาม
ที่ทำงานใหม่เป็นอย่างไร
ที่ทำงานใหม่ผมชื่อ บริษัท สคูลดิโอ จำกัด บริษัทเล็กๆ ขนาดกระทัดรัด อยู่ใจกลางสยาม สแควร์ ที่สคูลดิโอ เหมือนเป็นสตูดิโอที่รวมตัวละครลับ ความสามารถระดับ Avengers ทั้งทีม Designer, Business Developer, Software Engineer ที่ล้วนมาจากบริษัทใหญ่ๆ กันทั้งนั้นครับ ที่นี่มีบรรยากาศการทำงานที่ส่งเสริมให้เกิดความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น MD ของเราก็นั่งอยู่ในห้องเดียวกัน มีอะไรก็พูดก็บอกได้เลย ตอนนี้มีกัน 20 กว่าคนแล้วครับ กำลังอบอุ่น
ต้องปรับการใช้ชีวิตเยอะมั้ย
ที่ทำงานเดิมผมก็อยู่ไม่ไกลจากที่เดิมมาก ก็ไม่ต้องปรับตัวมากเท่าไหร่เรื่องการเดินทาง ก็อาจจะเปลี่ยนจากขับรถมาเป็นรถไฟฟ้าบ้างในช่วงแรกๆ อาหารการกินก็อุดมสมบูรณ์ ที่ต้องปรับหน่อยคือการบริหารการเงิน ที่จริงต้องนับว่าเป็นข้อดีที่ตอนแรกๆ เงินเดือนลดลง เพราะทำให้ผมวางแผนการเงินดีขึ้นเยอะ สามารถตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิตออกไปได้พอสมควรเลย ก็พออยู่ได้สบายๆ ไม่ได้ปรับเยอะมาก
สรุปแล้วตัดสินใจถูกไหม
คงต้องบอกตามตรงว่าตอนแรก ไม่ค่อยมั่นใจในการตัดสินใจของตัวเองเท่าไหร่ ยิ่งตอนเข้ามาช่วงแรกๆ ที่ยังอยู่ใน Fear Zone อยู่ ที่ยิ่งเกิดความไม่มั่นใจในตัวเอง และไม่แน่ใจในการตัดสินใจของตัวเอง แต่พอทำงานมาได้ 1 ปีเต็ม ก็คงต้องบอกว่า การตัดสินใจครั้งนั้น เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องมากๆ ครั้งนึงในชีวิต ผมรู้สึกว่าผมได้อัพสกิลและความสามารถหลายๆ อย่างในเวลา 1 ปี ได้มากกว่าที่เคยทำงานมาหลายปีเสียอีก อาจจะด้วยโอกาสที่ได้เรียนรู้ ปัญหาที่มีบริบทและข้อจำกัดที่แตกต่าง ทำให้เราต้องศึกษามากขึ้น ทำให้เรารู้สึกพัฒนาขึ้นตลอดเวลา รวมทั้งความรู้สึกว่า ไม่ว่าเราจะทำอะไร จะมีคอยสนับสนุนเสมอ ช่วยเหลือกันโดยไม่เกี่ยงงานกัน
ผลประกอบการปีที่ผ่านมาดีหรือเปล่า
มาถึงเรื่องที่สงสัยว่าตอนนั้นมาเงินเดือนลด แล้วตอนนี้เป็นยังไงบ้าง ก็ต้องบอกว่า ที่บริษัทนี้ ใครทำเยอะได้เยอะครับ ยิ่งผลประกอบการบริษัทดีเท่าไหร่ ก็จะมาถึงทุกคนในบริษัทมากเท่านั้นตาม Contribution แม้เงินเดือนตอนนี้จะยังไม่เท่าตอนที่ออกมา แต่ก็ถือว่าเกินว่าเกณฑ์ของตลาด ปลายปีโบนัสออกมา ก็ทำให้ใจชื้นและหายเหนื่อยไปได้เยอะ คุ้มกับที่พยายามเพิ่ม value ให้ตัวเอง อย่างที่ตั้งใจไว้เมื่อปีที่แล้ว
***[ช่วงขายของ] ก็เลยอยากจะเชิญชวนคนที่สนใจมาทำงานร่วมกัน ตอนนี้บริษัทกำลังขยายทีมอยู่ มาร่วมกันได้ที่ สคูลดิโอ สตูดิโอของคนอยากอัพสกิล***
เริ่มเข้าสู่ Growth Zone
อันที่จริงเรื่องของแต่ละโซนนั้น ยังไม่มีคำอธิบายอย่างเป็นทางการ แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนในความเข้าใจของผม ระหว่าง Learning Zone กับ Growth Zone คือการกำหนด Direction ของการขยาย Comfort Zone ของเรา ตอนที่อยู่ใน Learning Zone การขยายโซน จะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกเสียมาก ทั้งรูปแบบงาน ภาระความรับผิดชอบ โอกาสที่เข้ามา ฯลฯ
แต่การเจริญชีวิตใน Growth Zone นั้น สิ่งสำคัญคือการกำหนดทิศทางด้วยตนเอง ว่าเราอยากเห็นตัวเราเองไปอยู่ที่จุดไหน แล้วขยายโซนของเราไปยังจุดนั้น ที่จริงผมว่า Growth Zone คือโซนที่เราอยากไปถึง คือจุดอ้างอิงของชีวิต ว่าอยากให้ Comfort Zone ของเรามาถึงที่จุดนี้ ก่อนหน้านี้ ผมน่าจะเคยตั้ง Growth Zone เอาไว้ 3 อย่าง คือ อยากจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆตลอดเวลา (Purpose) ได้เอาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางคนเก่งๆ (Passion) และได้ทำงานที่มีประโยชน์กับคนอื่น (Impact) อย่างที่เคยเขียนไว้เมื่อปีที่แล้ว (ตอนนั้นยังไม่รู้จัก Growth Zone แต่คิดว่าน่าจะใช่)
ในปีที่ผ่านมา จากที่ได้ลอง Reflect ตัวเองดู ผมก็พบว่า Comfort Zone ของผม ได้ขยายมาทับ Growth Zone ที่เคยตั้งไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมันก็คงถึงเวลาที่จะต้องตั้งจุดอ้างอิงของ Growth Zone ใหม่ เริ่มออกจาก Comfort Zone อีกครั้ง ไปต่อสู้กับ Fear Zone อีกรอบ เรียนรู้ที่จะอยู่ใน Learning Zone และคอยตรวจสอบอยู่เสมอ ว่าเราไปถึง Growth Zone ของเราแล้วหรือยัง
และนี่ก็เป็นบทสรุปของภาคต่อ เผื่อคนที่เข้ามาอ่านบทความปีที่แล้วจะสงสัยว่า ตอนนี้ไอ้คนเขียน ได้ในสิ่งที่ตั้งใจไว้หรือเปล่า สิ่งที่ตัดสินใจยังถูกอยู่หรือไม่ ทำมา 1 ปีแล้วได้อะไรเพิ่มขึ้นบ้าง หรือถอดใจกลับไปบริษัทเดิมแล้ว ก็หวังว่าการอัปเดตรอบนี้คงจะเป็นประโยชน์กับคนที่ตัดสินใจจะย้ายงานนะครับ การทำงานในบริษัทไม่ใหญ่มาก แต่อุดมไปด้วยโอกาสในการเติบโตและเรียนรู้ ถ้าเราใช้โอกาสนั้นอย่างดีและเต็มที่ ผมเชื่อว่า เราจะกลายเป็นคนที่มีคุณค่าที่สำคัญขององค์กรในที่สุด และเมื่อถึงเวลาองค์กรของเราเติบโตขึ้น ผลตอบแทนอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราต้องกังวลอีกต่อไป
ถ้าพร้อมแล้วก็ก้าวออกมาจาก Comfort Zone กันครับ